นักลงทุนแห่สร้างอาคารสูงก่อนผังเมืองเชียงใหม่คลอด
ผวากฎหมายผังเมืองคุม นักลงทุนแห่ยื่นขอใบอนุญาตก่อสร้างอาคารสูงในเขตเทศบาลปีเดียวกว่า 100 ตึก
เฉพาะอาคารสูงที่ต้องทำ EIA มีกว่า 10 ตึก ผอ.ส่วนควบคุมอาคารฯยอมรับต้องใช้กฎหมายใหญ่
มาประกอบการพิจารณา แม้อยากมีเทศบัญญัติเองแต่ทำไม่ได้ ในขณะที่ประชาชนร้องเรียนเรื่องความแออัด
นายณภัทร ประเสริฐดี ผู้อำนวยการส่วนควบคุมอาคารและผังเมืองสำนักการช่าง เทศบาลนครเชียงใหม่
เปิดเผยว่า ในปี 2555 ที่ผ่านมามีเอกชนมายื่นขออนุญาตก่อสร้างอาคารเพิ่มสูงมาก แต่ส่วนใหญ่จะเป็น
อาคารขนาดไม่เกิน 8 ชั้น และความสูงไม่เกิน 23 เมตรและเนื้อที่ใช้งานไม่เกิน 4,000 ตารางเมตร
ซึ่งการยื่นขออนุญาตแบบนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA ตามที่กฎหมายกำหนด
โดยในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ที่ยื่นและได้รับใบอนุญาตไปแล้วมีประมาณ 100 กว่าตึก และที่ยื่น
และได้รับใบอนุญาตก่อสร้างสำหรับอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่ ที่ต้องมีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม
ก็มีอยู่ประมาณ 10 กว่าตึก โดยเป็นอาคารที่มีขนาดความสูงเกิน 23 เมตร พื้นที่เกิน 4,000 ตารางเมตร
และเป็นที่พักอาศัย ซึ่งมีทั้งคอนโดมิเนียมและหอพัก ส่วนการยื่นขออนุญาตสร้างโรงแรมใหม่ใน
เขตเทศบาลนครเชียงใหม่มีประมาณ 10 กว่าโรงเช่นเดียวกัน
"การพิจารณาอนุญาตนั้น เราใช้ระเบียบข้อบังคับตามพ.ร.บ.ควบคุมอาคารและการก่อสร้าง ของกระทรวงมหาดไทย
ไม่ใช่เทศบัญญัติที่เป็นข้อบังคับของท้องถิ่นเอง คือถ้าอาคารสิ่งปลูกสร้างเกิน 23 เมตรก็ต้องทำ EIA
แต่ถ้าไม่เกินก็ไม่ต้องทำเพราะไม่ได้ขัดกับกฎหมายใหญ่ที่ใช้ควบคุมทั้งประเทศ ส่วนกฎหมายผังเมือง
รวมใหม่ที่ยังรอการประกาศบังคับใช้นั้นจะมีการกำหนดความสูงของอาคาร สิ่งปลูกสร้างในแต่ละพื้นที่
แตกต่างกัน ซึ่งจะมีการจำกัดความสูง"
ผอ.ส่วนควบคุมอาคารและผังเมือง สำนักการช่าง เทศบาลนครเชียงใหม่ กล่าวและว่า
อย่างไรก็ตามในเรื่องของการก่อสร้างอาคารสูงๆ ที่เกิดขึ้นมากมาย ไม่ใช่ว่าทางท้องถิ่นจะเพิกเฉย
ทางเทศบาลฯเองก็เคยทำหนังสือถึงกระทรวงมหาดไทยที่จะออกเทศบัญญัติควบคุมอาคารและสิ่งปลูกสร้าง
ซึ่งเป็นกฎหมายของท้องถิ่นเอง แต่ปรากฏว่ามันไปขัดกับพ.ร.บ.ตัวใหญ่ซึ่งไม่ได้อยู่ที่กระทรวงมหาดไทยด้วย
ผอ.ส่วนควบคุมอาคารและผังเมือง สำนักการช่าง เทศบาลนครเชียงใหม่ กล่าวอีกว่า สำหรับการจัดโซนนิ่ง
ในการก่อสร้างหรือควบคุมอาคาร ในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่จะจำกัดเฉพาะในเขตสี่เหลี่ยมคูเมือง
ซึ่งเป็นกฎกระทรวงบังคับใช้อยู่ โดยจะสร้างอาคารสูงได้ไม่เกิน 12 เมตร และบริเวณริมแม่น้ำปิงทั้งสองฝั่ง
โดยใช้ถนนเป็นเกณฑ์ ฝั่งตะวันตกคือถนนเจริญประเทศและวังสิงห์คำและฝั่งตะวันออกคือถนนเจริญราษฎร์
และถนนเชียงใหม่-ลำพูน ซึ่งเป็นกฎหมายเก่าเป็นกฎกระทรวงที่บังคับใช้อยู่แล้ว
ปัญหาคือ กฎหมายมี 2 ประเภทคือ กฎหมายตามกฎกระทรวงพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ซึ่งกำหนด
ไว้ในมาตรา 9 และ 10 ว่าการออกกฎหมายหรือเทศบัญญัติอะไรก็ตามที่ขัดแย้งกับพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร
หรือกฎหมายใหญ่ ต้องขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการควบคุมอาคารและให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวง
มหาดไทยเป็นผู้ลงนาม เพราะการออกกฎหมายในการควบคุมอาคารสูงลงมาตามพ.ร.บ.อาคารอยู่ที่ส่วนกลาง
และได้เคยหารือไปแล้ว เป็นเรื่องที่ลำบาก ดังนั้นการพิจารณาการอนุญาตจึงใช้ตามข้อกำหนดของกฎหมาย
เดิมก่อนที่กฎหมายผังเมืองรวมใหม่จะออกมา
นายณภัทร กล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับการแก้ไขปัญหาความแออัดในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่นั้น ทางเทศบาลฯ
ก็ใช้กฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องเข้าช่วย เช่นบางรายที่เข้าข่ายกฎหมายสิ่งแวดล้อมก็พยายามให้คณะกรรมการ
สิ่งแวดล้อมเป็นตัวแทนๆ เทศบาลนครเชียงใหม่ อย่างเช่นมีบางจุดที่ยื่นขอก่อสร้างอาคาร 3 อาคารและมีความสูง
แต่ก็ใช้วิธีเจรจาขอให้ผู้ประกอบการลดความสูงและลดจำนวนอาคารแต่ขยายพื้นที่ใช้งานแทน
ในส่วนของการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมล้านนานั้น ตอนนี้จะมีข้อกำหนดเฉพาะในเขตสี่เหลี่ยมคูเมือง
โดยนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งในการกลั่นกรองและพิจารณารูปแบบ
อาคารที่เป็นล้านนาจริงๆ เพราะปัจจุบันคำว่าล้านนามีการนำไปใช้แบบหลากหลายและมีการตีความที่ขัดแย้งกันอีก
อย่างบางแห่งใส่แค่กาแลในอาคารอย่างเดียวก็บอกว่าเป็นสถาปัตยกรรมล้านนาแล้ว บางแห่งทำอาคารโมเดิร์น
แต่กระจก หน้าต่างทำเป็นลวดลายก็บอกเป็นล้านนา ซึ่งต่อไปจะมีคณะกรรมการชุดหนึ่งที่จะพิจารณา
รูปแบบล้านนาจริงๆ ออกมาซึ่งจะต้องครบหรือให้ได้ตามองค์ประกอบที่คณะกรรมการกำหนดก่อนถึงจะใช้
ว่าเป็นสถาปัตยกรรมล้านนาได้ ซึ่งกรรมการชุดนี้ก็มีมาจากหลายๆ หน่วยงาน
ผอ.ส่วนควบคุมอาคารฯยอมรับว่า ตอนนี้มีประชาชนร้องเรียนมาถึงเรื่องความแออัดของสิ่งปลูกสร้าง
ที่เกิดขึ้นมากมาย ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าผู้ประกอบการเร่งก่อสร้างเพื่อเลี่ยงกฎหมายผังเมืองใหม่
ที่จะบังคับใช้ในเร็วๆ นี้ ซึ่งเทศบาลฯเคยหารือคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมไปแล้วแต่ก็บอกว่าทำได้
ตรงนี้แหละขึ้นอยู่กับวิจารณาญาณและความรับผิดชอบของผู้ประกอบการด้วย.
credit :: chiangmainews