ร้านขายวัสดุฯ รับอานิสงส์ เมืองโสร่ง
ธุรกิจวัสดุก่อสร้างของไทยเฮ รับอานิสงส์จากผู้รับเหมาแดนโสร่ง หลังนักลงทุนและรัฐบาลพม่าลงทุนก่อสร้งอสังหาริมทรัพย์
และโรงแรมขนานใหญ่รับค้าเสรีอาเซียนที่กำลังมาถึง ส่งผลให้เม็ดืเงินสะพัดยอดขายวัสดุก่อสร้างที่ส่งออกจากไทยพุ่งต่อเนื่อง
ด้วยอานิสงส์ของการขยายตัวธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในเมียนมาร์ปัจจุบัน ส่งผลให้มีความต้องการวัสดุก่อสร้างมากขึ้น
ซึ่งนับเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจวัสดุก่อสร้างไทย เนื่องจากวัสดุและอุปกรณ์ก่อสร้างบางประเภทของไทยมีประสิทธิภาพมากกว่า
เช่น ปั้นจั่น โครงสร้างเหล็ก และเครื่องจักรอื่นๆที่ใช้สำหรับการก่อสร้าง เป็นต้น และด้วยเหตุที่วัสดุก่อสร้างในเมียนมาร์
ยังมีไม่เพียงพอ อาทิ ปูนซีเมนต์ และผลิตภัณฑ์เหล็ก ซึ่งตลาดส่วนใหญ่ก็นิยมใช้ผลิตภัณฑ์ของไทย เนื่องจากมั่นใจคุณภาพสินค้า
อย่างไรก็ดี สำหรับโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ก็ยังจำเป็นต้องนำเข้าวัสดุก่อสร้างอยู่จำนวนมาก ทั้งนี้ โครงการสำคัญที่จะเริ่มก่อสร้าง
คือ โครงการเขื่อนท่าซาง งบลงทุน 240,000 ล้านบาท (นักลงทุนไทยและจีน) โครงการก่อสร้างโรงขุดเจาะและผลิตน้ำมัน
และแก๊สธรรมชาติ งบลงทุน 3,000 ล้านบาท (นักลงทุนไทย) และโรงผลิตน้ำประปา ด้วยงบลงทุน 1,000 ล้านบาท (นักลงทุนไทย)
นอกเหนือจากแผนลงทุนก่อสร้างของภาครัฐแล้ว ทางภาคเอกชนยังเตรียมลงทุนก่อสร้างทั้งด้านอสังหาริมทรัพย์ อาคาร
และโรงแรมที่พัก เพื่อรองรับนักลงทุนและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ทวีเพิ่มขึ้น ด้วยเหตุที่ในเมียนมาร์มีบรรยากาศการลงทุนดีขึ้น
จากการผ่อนปรนทางการเมืองและมีนโยบายส่งเสริมการค้าและการลงทุนมากขึ้น บวกกับเมียนมาร์ก็ยังคงมีความอุดมสมบูรณ์
ของทรัพยากรธรรมชาติ ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงคาดว่า ภาคก่อสร้างของเมียนมาร์ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้ GDP
ภาคก่อสร้างเมียนมาร์ในปี 2556 ณ ราคาปัจจุบัน จะอยู่ที่ 2,400,000 – 2,485,000 ล้านจ๊าด ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน
ร้อยละ 12.4 – 16.4 และคิดเป็นราวร้อยละ 5 ของ GDP ของเมียนมาร์ (GDP ภาคก่อสร้างปี 2555 เติบโต ราวร้อยละ 16
หรือคิดเป็นมูลค่า 2,135,000 ล้านจ๊าด) หากไม่มีปัจจัยเสี่ยงที่ไม่คาดคิดอื่นมากระทบและส่งผลต่อภาคก่อสร้าง
จึงนับว่าตลาดวัสดุก่อสร้างในเมียนมาร์ เป็นดาวรุ่งในปัจจุบันและเอื้อหนุนต่อช่วยเอื้อหนุนต่อผู้จำหน่ายวัสดุและอุปกรณ์ก่อสร้างของไทย
เพื่อรองรับการเติบโตของตลาดก่อสร้างในอนาคต ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงคาดว่า ในปี 2556 จะมีมูลค่าการส่งออกวัสดุก่อสร้าง
จากไทยไปเมียนมาร์อยู่ที่ 350 – 364 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 10,500 – 10,925 ล้านบาท เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในอัตรา
ร้อยละ 14.5-19.0 จากที่ขยายตัวร้อยละ 32 ในปี 2555 ทั้งนี้การเติบโตสูงมากในปีก่อนหน้าเป็นผลมาจากการเร่งก่อสร้าง
หลายโครงการ
อย่างไรก็ตาม คาดว่าปีนี้ภาคก่อสร้างในเมียนมาร์จะปรับตัวค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้ตลาดวัสดุก่อสร้างในเมียนมาร์ ก็มีการแข่งขันสูง
ทั้งจากนักลงทุนท้องถิ่นและต่างประเทศ ดังนั้นก่อนตัดสินใจลงทุน จึงควรศึกษาและติดตามกฎระเบียบการลงทุนที่อาจมีการเปลี่ยนแปลง
ช่องทางเข้าไปติดต่อธุรกรรม รวมถึงเริ่มสร้างและรักษาพันธมิตรทางการค้าในท้องถิ่นไว้ เพื่อสนับสนุนข้อมูลการค้าและการลงทุน
credit :: chiangmainews