cmxseed สังคมราตรี

หมวดหมู่ทั่วไป => สัพเพเหระ => ห้องประชุม CEO => หัวข้อที่ตั้งโดย: don เมื่อ 10 ธันวาคม 2008, 04:49:10

ชื่อ: วิกฤตที่ไม่ได้เรียนรู้
โดย: don เมื่อ 10 ธันวาคม 2008, 04:49:10
วิกฤตเศรษฐกิจที่ลามไปทั่วโลกทำท่าจะฉุดไม่อยู่เสียแล้ว ยิ่งมาถึงบ้านเรา ก็ได้ความผันผวนทางการเมืองเข้าไปผสมโรงจนไปกันใหญ่ แต่ในฐานะนักธุรกิจและเจ้าของกิจการจะตื่นตระหนกกับเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างเดียวไม่ได้ ก็ต้องมาลองวิเคราะห์กันดูว่าจะปรับตัวกันอย่างไร
 


ในความเห็นของผมแล้ว วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ก็ไม่น่าจะแตกต่างอะไรกับเหตุการณ์ สึนามิเมื่อหลายปีก่อน ซึ่งจำนวนผู้เสียชีวิตนับแสนคนนั้น เกิดขึ้นก็เพราะเขาไม่รู้ว่าสถานการณ์ที่เห็นต่อหน้านั้นจะมีภัยต่อชีวิต

เพราะความไม่รู้ ทำให้ไม่เกิดความรู้สึกว่าต้องป้องกันตนเอง ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งที่ต้องสูญเสียอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือชีวิตนับแสน และทรัพย์สินบ้านเรือนอีกมหาศาลที่ยังคงมีซากปรักหักพังให้เราเห็นอยู่จนถึงทุกวันนี้

มาดูกันที่เศรษฐกิจของอเมริกา ที่ในอดีตเมื่อปี  ค.ศ. 1929 ก็เคยเกิดวิกฤตการณ์คล้ายๆ กันมาแล้ว โดยคนทำงานถึง  1 ใน 3 ต้องตกงาน แต่พอผ่านมา 80 ปี ถึงวันนี้แล้วคนอเมริกันกลับจัดการปัญหาเหมือนกับไม่เคยเจอมาก่อน จนทุกอย่างดูจะแย่ลงเรื่อยๆ

ผมเชื่อว่าสาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนที่เคยจัดการสถานการณ์เมื่อปี 1929นั้น ถ้าอยู่ถึงปัจจุบัน ก็มีอายุถึง 100-120 ปีแล้ว ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะให้เขามาเล่าประสบการณ์และร่วมวางแผนแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจดังกล่าวได้

น่าเสียดายที่ผู้ผ่านวิกฤตการณ์ดังกล่าวมาก่อนไม่สามารถมีอายุยืนยาวมาช่วยเราแก้ปัญหาในวันนี้ ทำให้ปัญหาดังกล่าวบานปลายจนกระทบไปถึงหลายๆ ประเทศทั่วโลก ไม่ได้จำกัดวงอยู่เฉพาะในอเมริกาเหมือนเมื่อ 80 ปีที่แล้ว

ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมาเราจึงเห็นหลายๆบริษัททั่วโลกพากันปิดตัว หรือประกาศล้มละลายกันมากมายทั้งที่เป็นบริษัทเก่าแก่ และดูยิ่งใหญ่มั่นคงมานาน ซึ่งการล้มลงของบริษัทเหล่านี้ยังส่งผลไปยังบริษัทอื่นๆ ตามมามากมาย

เช่นบริษัท A ขายกิจการส่วนหนึ่งให้บริษัท B หลังจากนั้น เมื่อบริษัท B ประสบปัญหาจนล้มละลายไป โดยมีหนี้คงค้างกับบริษัท  A ก้อนใหญ่ ผลก็คือบริษัท A ต้องได้รับผลกระทบไปด้วยโดยต้อง write off หนี้ก้อนนั้นออกไปทางบัญชี ซึ่งอาจเป็นเงินมากพอที่ทำให้บริษัท A ต้องล้มตามไปด้วย

สถาบันการเงินหลายๆ แห่งในอเมริกาก็เจอสภาพไม่แตกต่างกัน เช่น Merrill Lynch ก็ต้อง write off ติดต่อกัน 2 ไตรมาสเป็นเม็ดเงินมหาศาลถึง 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะถูก Bank of America ซื้อไป

นอกจากนั้นยังมีอีกมากตามที่เป็นข่าว โดยเฉพาะในช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ที่ทุกประเทศต่างก็รอคอยเงิน 700,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐที่จะนำมาแก้วิกฤต โดยรอการอนุมัติจากสภาคองเกรส ซึ่งกว่าจะผ่านได้ ในยุโรปก็เกิดปัญหากับธนาคาร 2-3 แห่งไปแล้ว

นอกจากนั้นยังส่งผลกระทบกับธุรกิจหลายตัวที่ส่งผลถึงประชาชนทั่วไปที่ไม่เคยคิดว่าเหตุการณ์ในต่างประเทศจะส่งผลกระทบมาถึงเงินลงทุน หรือสวัสดิการของตัวเอง เช่นธุรกิจประกันภัยที่บริษัทหนึ่งต้องเร่งออกมาชี้แจง หลังมีข่าวว่าบริษัทแม่ในอเมริกามีปัญหา

ผลกระทบจากโลกไร้พรมแดนจึงรุนแรงกว่าที่เราคิด เพราะบริษัทที่มีปัญหาเหล่านี้ล้วนมาถือหุ้นในบริษัทต่างๆ ในบ้านเราด้วย แน่นอนว่าเมื่อเขามีปัญหาก็ย่อมต้องหาทางดึงเม็ดเงินกลับไปกู้วิกฤตการณ์ในบ้านเขาก่อน

สำหรับคนที่คิดว่าอยู่ฝั่งยุโรปคงจะปลอดภัยกว่าฝั่งอเมริกา เช่นเดียวกับที่คนมีเงินดอลลาร์แล้วคิดว่าเงินดอลลาร์มีความเสี่ยง จึงหันมาซื้อเงินยูโรแทน แต่สุดท้ายแล้วเงินยูโร ก็ตกลงตามไปด้วยสถานการณ์เหล่านี้ไม่ได้ห่างไกลตัวเราเลย

ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นข้ามทวีปนี้เป็นเหมือนไฟไหม้ที่ลามถึงกันได้รวดเร็วโดยมหาสมุทรแอตแลนติกที่คั่นกลางอยู่นี้ไม่สามารถช่วยดับไฟได้เลย เพราะเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของโลก คือ อเมริกา และยุโรป ซึ่ง 2 ส่วนนี้รวมกันมากกว่า 60% ของโลกแล้ว

ในขณะที่พญามังกร คือประเทศจีนนั้นก็มีทั้งวิกฤตและโอกาสเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน ยิ่งทำให้เราวางแผนได้ยากขึ้น ซึ้งเนื้อที่จำกัดเหลือเกินคงต้องขยายความต่อในอาทิตย์หน้านะครับ