การทำตลาดร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ

การทำตลาดร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ

เริ่มโดย don, 09 มกราคม 2008, 23:29:54

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

don

การทำตลาดร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ

อาจารย์สมชาย  เลี่ยงโรคาพาธ

ปัจจุบัน SMEs มีบทบาทอย่างมากกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยจำนวนผู้ประกอบการ SMEs คิดเป็นสัดส่วนถึง 80-90 เปอร์เซ็นต์ของผู้ประกอบธุรกิจทั้งหมดทั่วประเทศ และผลผลิตจาก SMEs คิดเป็นมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) การกำหนดกลยุทธ์และมาตรการสนับสนุน SMEs ในด้านต่าง ๆ รวมทั้งด้านการเงิน การกำหนดกฎระเบียบ ภาษี การตลาด ทรัพยากรบุคคล การผลิต นวัตกรรม และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ จะช่วยให้เพิ่มศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของ SMEs

ความสำคัญของ SMEs

ความสำคัญของ SMEs ในการผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ มีดังนี้
1.   เป็นแหล่งจ้างงานจำนวนมาก และช่วยสร้างเสริมทักษะการทำงานด้านวิชาชีพด้วย
2.   ผลผลิตของคิดเป็นมูลค่าสูงเมื่อเทียบกับ GDP
3.   เป็นผลิตภัณฑ์ส่งออกที่สำคัญ และเพิ่มการไหลเข้าของเงินตราต่างประเทศ
4.   ช่วยลดการนำเข้าของสินค้าจากต่างประเทศ
5.   ใช้เงินลงทุนน้อย และเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ ช่วยสร้างเสริมประสบการณ์ให้กับผู้ประกอบการใหม่ ๆ ในการที่จะก้าวเป็นธุรกิจที่ใหญ่ขึ้นต่อไป
6.   SMEs เกี่ยวข้องกับขบวนการผลิตทุกขั้นตอน ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ การผลิต การจัดจำหน่าย การขนส่ง การดูแลรักษาและซ่อมแซม และช่วยสร้างพันธมิตรกับธุรกิจใหญ่ ๆ โดยการสร้างชิ้นส่วนให้บริษัทใหญ่ ๆ นำไปผลิตสินค้าและบริการต่อไป
7.   ช่วยเพิ่มการแข่งขัน และคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ
8.   ช่วยลดผลกระทบจากการที่เศรษฐกิจตกต่ำ เนื่องจาก SMEs สามารถปรับตัวได้เร็วกว่าบริษัทใหญ่

แนวทางการพัฒนาเพื่อการอยู่รอดของธุรกิจ SMEs

ทุกวันนี้ สภาพแวดล้อมทางธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปมาก มีการแข่งขันสูง มีการกำหนดกฎระเบียบขึ้นมาใหม่มากมาย ผู้บริโภคมีความรู้มากขึ้น และมีความต้องการที่แตกต่างกัน ไม่ใช่แต่เฉพาะ SMEs บริษัทต่าง ๆ จึงต้องทำการผลิตสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น แนวทางการพัฒนาเพื่อการอยู่รอดของธุรกิจ SMEs มีดังนี้
?   การปรุงด้านการตลาด SMEs ควรมีการพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์อยู่เสมอ เพื่อให้มีความแตกต่างจากคู่แข่งขัน และเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ โดยอาจจะผลิตสินค้าที่เป็นนวัตกรรมเพื่อดึงดูดความสนใจของผู้บริโภค
?   การปรับปรุงด้านเทคโนโลยี โดยใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ หรือ Know-how เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และตอบสนองต่อความต้องการาของผู้บริโภค
?   การยืนหยัดด้วยตนเอง ไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่น โดยการใช้ความรู้และพัฒนาความรู้ระดับท้องถิ่น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า
?   การสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ โดยมีการเชื่อมโยง การตั้งกลุ่มที่มีกิจกรรมคล้ายกัน เพื่อช่วยลดการลงทุน และใช้บุคลากรอย่างมีประสิทธิภาพ การรวมกลุ่มเป็นคลัสเตอร์ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน


ตัวอย่างหน่วยงานภาครัฐและวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องกับ SMEs 

-   สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
-   สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
-   สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)
-   กระทรวงต่างประเทศ
-   กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
-   กรมส่งเสริมการส่งออก
-   การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)
-   การบินไทย
-   สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
-   สมาคมต่าง ๆ

การทำตลาดร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ 

การพิจารณาการวางแผนการตลาดร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ สามารถทำได้ในหลาย ๆ ส่วนพร้อมกัน โดยอาจแบ่งตามส่วนผสมทางการตลาดทั้ง 4 ส่วน (4Ps) คือ ผลิตภัณฑ์ (Product) ราคา (Price) ช่องทางการจัดจำหน่าย (Place) และการส่งเสริมการขาย (Promotion)

P ตัวที่ 1 ผลิตภัณฑ์

รัฐบาลให้การสนับสนุน SMEs ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยเน้นช่วยเหลือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น และการคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เป็นนวัตกรรม การส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์เพื่อยกระดับให้มีการปรับปรุงการผลิตให้ดียิ่งขึ้นและเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของธุรกิจชุมชน โดยจัดให้มีโครงการต่าง ๆ ในระดับชุมชน เช่นโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ การส่งเสริมการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการผลิต และมีการให้ทุนในการวิจัยหาผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้มากขึ้น หรือโครงการมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน ของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ให้ผลิตภัณฑ์เป็นที่ยอมรับและสามารถประกันคุณภาพให้กับผู้บริโภค     

P ตัวที่ 2 ราคา

รัฐบาลได้ออกมาตรการความช่วยเหลือแก่ SMEs ในด้านการเงินด้วยการจัดหาแหล่งเงินทุนราคาถูก การออกมาตรการด้านภาษีเพื่อช่วยให้มีค่าใช้จ่ายด้านภาษีน้อยลง และมาตรการอื่น ๆ ทางด้านการเงิน ช่วยให้ผลิตภัณฑ์ SMEs มีต้นทุนรวมต่ำลง และสามารถขายในราคาที่แข่งขันกับผู้ผลิตรายใหญ่ได้

P ตัวที่ 3 ช่องทางการจัดจำหน่าย

รัฐบาลมีนโยบายที่จะให้ความเชื่อเหลือแก่ SMEs โดยการจัดหาช่องทางการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์ SMEs เช่น การจัดงานแสดงสินค้า OTOP ต่าง ๆ โดยสนับสนุนให้หน่วยงาน หรือกลุ่มต่าง ๆ ในชุมชน ร่วมมือกัน นำผลิตภัณฑ์มาแสดงและจำหน่าย การจัดงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ และจัดให้มีการพบปะระหว่างผู้ขาย และผู้ผลิต เช่น สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมร่วมมือกับ BOI สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เชิญผู้ประกอบการจากต่างประเทศมาเยือนประเทศไทย เพื่อส่งเสริมการลงทุน และการทำ Business Matching เป็นต้น

P ตัวที่ 4 การส่งเสริมการตลาด

รัฐบาลช่วยเหลือ SMEs ด้านการส่งเสริมการตลาด โดยมีการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ผลิตภัณฑ์ SMEs ผ่านสื่อต่างๆ เช่น สื่อวิทยุ  โทรทัศน์  หนังสือพิมพ์ ฯลฯ  เพื่อสร้างการรับรู้เพื่อให้ผู้บริโภครู้จักและเกิดความตื่นตัว สร้างแรงจูงใจทั้งทางตรงและทางอ้อม ให้เป็นที่ยอมรับและเพิ่มความเชื่อถือของผู้ซื้อทั้งในและต่างประเทศ เช่น โครงการติดฉลากแสดงประสิทธิภาพอุปกรณ์ไฟฟ้า ภายใต้ชื่อ ?โครงการประชาร่วมใจ ประหยัดไฟฟ้า? รัฐบาลได้สนับสนุนการประชาสัมพันธ์ และการส่งเสริมการผลิตและพัฒนาอุปกรณ์ไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพสูง ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับผู้ใช้ไฟฟ้าในการประหยัดค่าไฟ และเป็นการประหยัดพลังงานโดยรวมของประเทศ หรือโครงการมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน ของสมอ. เพื่อส่งเสริมด้านการตลาดของผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลาย และสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ชุมชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ  เป็นต้น



ตัวอย่างกิจกรรมส่งเสริมการตลาดที่ภาครัฐจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมการพัฒนา SMEs

?   งาน OTOP-SMEs-BOI : Made in Thailand (อุตสาหกรรมทั่วไทย)  ในเดือนมิถุนายน 2547 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี

งานนี้เป็นการร่วมมือกันของหน่วยงานในกระทรวงอุตสาหกรรม ประกอบด้วย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยภายในงานจะเป็นการรวมความหลากหลายสินค้าของอุตสาหกรรมไทย และเป็นการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมระดับรากหญ้า ที่จะพัฒนาไปสู่การลงทุน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้สินค้าเป็นที่ยอมรับของตลาดทั้งในและต่างประเทศ


?   งาน OTOP AND THAI TASTE เมื่อเดือนมีนาคม 2547 ณ. กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน
   
สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ร่วมกับกระทรวงต่างประเทศ กรมส่งเสริมการส่งออก ททท. BOI การบินไทย ธพว. สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าไทย-เยอรมัน บริษัทส่งเสริมการค้าเอสเอ็มอี จำกัด สมาคมสปาไทย สมาคมไหมไทย และหน่วยงานในประเทศเยอรมนีคือ สถานเอกอัครราชทูตไทย สำนักงานกงสุลใหญ่ประจำนครแฟรงเฟริต และสำนักงานส่งเสริมการค้าไทยในต่างประเทศประจำกรุงเบอร์ลินและประจำนครแฟรงเฟริต จัดโครงการแสดงสินค้า OTOP และ SMEs ที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน เพื่อเป็นการเผยแพร่สินค้า OTOP ให้เป็นที่รู้จักของนักธุรกิจชาวเยอรมันมากขึ้น และเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับสินค้า OTOP ในด้านมาตรฐานการผลิต กำลังการผลิต และราคา นอกจากนั้นยังเป็นการเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้า OTOP ในอนาคตอีกด้วย

?   โครงการเถ้าแก่มือใหม่

โครงการ ?เถ้าแก่มือใหม่? เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กับคลื่นข่าว 96.5 Business Radio, สำนักข่าว จีจี นิวส์ และบริษัท จีจี พลัส จำกัด โดยเป็นการอบรมที่มีทั้งภาคบรรยายจากผู้ประสบความสำเร็จมาก่อนในแต่ละธุรกิจ และภาคปฏิบัติเพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้สัมผัสรายละเอียดขั้นตอนการปฏิบัติในจุดที่เป็นหัวใจของธุรกิจนั้น อันจะนำไปสู่การวางแผน การบริหาร และการแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพ

?   อื่น ๆ เช่น งาน THAILAND PRODUCTS EXHIBITION FAIR 2003 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น งาน "บาติกแฟร์" ที่จังหวัดภูเก็ต  งานแสดงสินค้าค้นหาความเป็นเลิศ OTOP ไทย  โครงการฝึกอบรมเอง เทคนิคการปรับปรุงและกระบวนการผลิตอาหารตามข้อกำหนดของกฎหมาย GMP เป็นต้น


การที่รัฐบาลมีการช่วยเหลือธุรกิจ SMEs ทั้งทางตรงและทางอ้อม จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน เพิ่มส่วนแบ่งตลาดในตลาดท้องถิ่น และเพิ่มโอกาสการส่งออกสำหรับสินค้าบางประเภทอีกด้วย


กรณีศึกษา

เฉาก๊วยธัญพืช

ข้อมูลจากการสัมภาษณ์คุณอรินทร์ ตรีช่อวิทยา
และจากนิตยสารโลกการค้า ปีที่ 10 ฉบับที่ 94 กุมภาพันธ์ 2547
(อ่านประวัติความเป็นมาได้จากบทความ เรื่อง การหาช่องทางการตลาด )

   คุณอรินทร์ เจ้าของธุรกิจเฉาก๊วยธัญพืชได้เคยเข้าร่วมอบรมในโครงการพัฒนาผู้ประกอบการ SME ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ISMED)   ทำให้มีแนวคิดในการพัฒนาธุรกิจมากขึ้น มีการขยายกิจการอย่างต่อเนื่อง และ ได้เข้าร่วมออกร้าน ที่ทางหน่วยงานราชการจัดขึ้น ฌ เมืองทองธานี  ในงานสินค้าOTOP   อันเป็นโอกาสอันดีที่ได้เปิดตัวธุรกิจเฉาก๊วยธัญพืช นับว่าได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐที่ได้ผล มีคุณค่ามาก

บริษัท เจลลี่เบิร์ด จำกัด
(ธุรกิจเฉาก๊วยธัญพืช)
คุณอรินทร์ ตรีช่อวิทยา  โทรศัพท์ 02-7195009
friendly
0
funny
0
informative
0
agree
0
disagree
0
pwnt
0
like
0
dislike
0
late
0
No reactions
No reactions
No reactions
No reactions
No reactions
No reactions
No reactions
No reactions
No reactions